เอกสารราชการประเภทไหน? ไม่สามารถยื่นโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้

  • September 26, 2022

News Description

เอกสารราชการ

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบ และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นก็คือ “รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป” เรื่องนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยมีประเด็นหลักคือ การทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าไปที่องค์กร ส่งผลให้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารก็ต้องมีวิธีการที่เปลี่ยนไปจากเดิม นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐต้องมีการผลักดัน จนตกผลึกและทำให้เกิดร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เรากำลังจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐสะดวกในการรับ – ส่งข้อมูลหน่วยงานมากขึ้น รวมถึงการสื่อสารและการทำเอกสารต่าง ๆ โดยการรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติงานสารบรรณทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินงานของภาครัฐ และช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อกับส่วนราชการมากขึ้น

 

แต่เนื่องด้วยเอกสารทางราชการมีอยู่หลายประเภท ซึ่งในบางประเภทนั้น เราไม่สามารถยื่นผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะขั้นตอนและรูปแบบของตัวเอกสารมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก จะต้องเป็นการเข้าไปขอรับบริการกับทางหน่วยงานภาครัฐโดยตรง จะมีเอกสารประเภทไหนบ้างนั้น? วันนี้ ดิทโต้ เตรียมข้อมูลมาให้คุณแล้ว

 

เอกสารราชการที่ไม่สามารถยื่นโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้

 

1. การจดทะเบียนหย่า

ปัญหาคู่สมรสไม่สามารถครองรักกันได้ จนเกิดปัญหาที่จะต้องการหย่าร้างและแยกกันอยู่ การจะดำเนินการจดทะเบียนหย่านี้ ไม่สามารถยื่นเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่มีความละเอียดอ่อน เพราะการหย่าจะต้องขึ้นตรงต่อคำพิพากษาของศาล ต้องมีหลักฐานในในการยื่นฟ้องหย่า เพราะฉะนั้นการยื่นเอกสารหย่าจะต้องดำเนินเรื่องที่สำนักทะเบียนเท่านั้น โดยหลักฐานที่ต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า มีดังต่อไปนี้

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า

 

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบสำคัญการสมรส
  • หนังสือหย่าหรือหนังสือสัญญาหย่า
  • พยานบุคคลจำนวน 2 คน

 

2. การรับบุตรบุญธรรม

การรับบุตรบุญธรรมจะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการเข้าไปขอรับบริการกับทางหน่วยงานภาครัฐโดยตรง ไม่สามารถยื่นเอกสารผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากจะต้องมีการเจรจา สอบสวน พูดคุยถึงความยินยอม ซึ่งสามารถดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขตที่ไหนก็ได้ตามสะดวก โดยมีหลักฐานที่ต้องใช้เพื่อการรับบุตรบุญธรรม มีดังต่อไปนี้

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อการรับบุตรบุญธรรม

 

  • บัตรประจำตัวประชาชนผู้เกี่ยวข้อง
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • พยานอย่างน้อย 2 คน
  • เอกสารการสมรสกรณีมีคู่สมรส หรือเอกสารการหย่า (ถ้ามี)

 

3. บัตรประจำตัวประชาชน

การทำบัตรประชาชนสามารถไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองและที่ว่าการอำเภอในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ปัจจุบันสามารถทำบัตรประชาชนนอกเขตได้แล้ว โดยยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีจุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) ที่เปิดให้ไปติดต่อทำบัตรประชาชน ตามสถานีรถไฟฟ้า BTS ในกรุงเทพฯ (ยกเว้นกรณีบัตรหาย ไม่สามารถติดต่อทำที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ได้)

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน

 

  • สูติบัตร หรือหลักฐานอื่นที่ราชการออกให้
  • หากเปลี่ยนชื่อ/สกุล ต้องนำใบสำคัญมาแสดงด้วย
  • หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
  • กรณีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดามาแสดง
  • การขอมีบัตรครั้งแรกเมื่ออายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ต้องนำเอกสารหลักฐานที่กำหนด และให้นำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน เพื่อสอบสวนและให้การรับรอง

 

4. หนังสือเดินทาง

เป็นเอกสารที่รับรองสัญชาติของผู้ถือ และเป็นเอกสารแสดงตนของผู้ถือ ซึ่งออกให้โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อใช้เดินทางระหว่างประเทศ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฏบนหนังสือเดินทาง ได้แก่ ชื่อ วันเดือนปีเกิด เพศ และสถานที่เกิดของผู้ถือหนังสือเดินทาง โดยสามารถไปทำได้ที่ กรมการกงสุล และสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อทำหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

 

  • บัตรประชาชน
  • หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีหลักเกณฑ์ในการรองรับการยื่นเอกสารในกระบวนการต่าง ๆ ที่ไม่สามารถยื่นเอกสารบางประเภทที่กล่าวในข้างต้น เนื่องจากเอกสารเหล่านี้จัดเป็นเอกสารข้อมูลลับ เพื่อป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ตามระเบียบของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA หรือ Personal Data Protection Act คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

ในส่วนเอกสารที่สามารถยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนเองก็ไม่ต้องเดินทาง สามารถยื่นเอกสารผ่านระบบดิจิทัล เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งทางภาครัฐยังลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้หน่วยงานราชการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจัดการอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับหน่วยงานราชการ เข้าสู่กระบวนการ Digital transformation อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

สอบถามรายละเอียด ระบบระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. เพิ่มเติม

📞 02-517-5555

Line ID: @dittothailand