เคยสังเกตกันไหมว่า ธุรกิจในยุคปัจจุบันมักเริ่มมีส่วนในการผลักดันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ก้าวไกลมากขึ้น แต่กลับส่งผลกระทบด้านลบให้โลกของเรามากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ต่างส่งผลโดยตรงกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก ทำให้องค์กรชั้นนำเริ่มหันมาคำนึงถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” หรือที่เรียกกันว่า “CSR”
ซึ่งการทำกิจกรรม CSR คือหนึ่งในแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่องค์กรสามารถทำได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโลกให้น่าอยู่มากขึ้น แก้ปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยมลพิษต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การทำ CSR ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อสังคม และเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้อีกด้วย
ทำความรู้จัก CSR คืออะไร
กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกกันว่า CSR คือ แนวคิดในการดำเนินกิจกรรมที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งภายในหรือภายนอกองค์กร เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรไม่ได้มุ่งหวังแต่ในเรื่องของผลกำไรเท่านั้น แต่ยังมีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และคืนกำไรเพื่อสร้างความสุขให้กับสังคมอีกด้วย
สำหรับองค์กรที่อยากเริ่มนำแนวคิด CSR มาใช้ การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ความเป็นธรรม และการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ก็ถือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่องค์กรสามารถเริ่มต้นทำได้ และเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การสร้างความเชื่อใจระหว่างองค์กรและผู้บริโภค
ประเภทของ CSR มีอะไรบ้าง
โดยแนวคิด CSR สามารถแบ่งออกเป็น 6 กิจกรรมหลัก ๆ ดังนี้
1. Cause Promotion – การส่งเสริมการรับรู้ประเด็นปัญหาทางสังคม
กิจกรรม CSR ประเภทแรก คือ การที่องค์กรส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ด้วยการจัดหาเงินทุน ระดมทุน บริจาคทรัพยากร และการเฟ้นหาอาสาสมัครเพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นการร่วมมือกันระหว่างหลากหลายองค์กรก็ได้
2. Cause-Related Marketing – การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางสังคม
กิจกรรม CSR ประเภทที่ 2 คือ การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางสังคม เป็นการผลิตหรือออกแบบสินค้ารุ่นพิเศษ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสินค้าเหล่านี้ มาร่วมแก้ไขปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งการทำกิจกรรมประเภทนี้มักจะร่วมกับองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ โดยไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการช่วยเหลือสังคม และเปิดโอกาสให้แก่ผู้บริโภคสามารถร่วมสนับสนุนด้วยการซื้อสินค้าผ่านองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิด้วยความสมัครใจ
3. Corporate Social Marketing – การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม
กิจกรรม CSR ประเภทที่ 3 คือ การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเป็นมุ่งเน้นที่จะสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) และเกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม (Behavior Change) ในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยองค์กรจะเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรด้านต่าง ๆ
4. Corporate Philanthropy – การบริจาคเพื่อการกุศล
กิจกรรม CSR ประเภทที่ 4 คือ การบริจาคเพื่อการกุศล เป็นหนึ่งในกิจกรรม CSR ที่พบได้ทั่วไปในการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะมาจากการร้องขอของหน่วยงานหรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือกระแสความต้องการจากสังคม มากกว่าการวางแผนภายในองค์กรเอง
5. Community Volunteering – การอาสาช่วยเหลือชุมชน
การทำ CSR ประเภทที่ 5 คือ การอาสาช่วยเหลือชุมชน เป็นการที่องค์กรสนับสนุนให้บุคลากรหรือคู่ค้า สละเวลางานมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน เพื่อแสดงถึงความใส่ใจและความเป็นห่วงต่อชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ โดยสามารถจัดกิจกรรมขึ้นมาเองหรือทำร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน
6. Socially Responsible Business Practices – การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
การทำ CSR ประเภทที่ 6 คือ การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการดำเนินธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงปัญหาทางสังคมและหาแนวทางการป้องกันปัญหาอย่างรอบคอบ องค์กรจะต้องพิจารณาทุกกระบวนการทำธุรกิจตั้งแต่การผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เพื่อช่วยรักษาสุขภาวะของชุมชนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
CSR มีกี่ระดับ
การทำกิจกรรม CSR ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจขององค์กรหรือการปฏิบัติตามกฎหมาย มีความเข้มข้นและผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน 4 ระดับ ดังนี้
- CSR ระดับพื้นฐาน คือ กิจกรรมที่องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ หรือข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งมักจะเห็นได้จากองค์มหาชน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่จะต้องจัดกิจกรรมเพื่อสังคม
- CSR ระดับก้าวหน้า คือ กิจกรรมที่องค์กรมีความตั้งใจหรือยินดีที่จะดำเนินการเอง โดยไม่ได้ถูกข้อบังคับทางกฎหมายใด ๆ
- Corporate-driven CSR หรือองค์กรเป็นผู้ขับเคลื่อน คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร ทั้งเงิน ผลิตภัณฑ์ และอาสาสมัคร เพื่อร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ
- Social-Driven CSR หรือพลังสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อน คือ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ประโยชน์ของการทำ CSR
หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่า CSR คืออะไร มีกิจกรรมและระดับในการทำอย่างไรบ้าง เรามาดูกันว่าประโยชน์ของการทำกิจกรรม CSR มีอะไรบ้าง
1. ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร
ประโยชน์ข้อแรกของกิจกรรม CSR คือ ช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากการร่วมกิจกรรมและทำประโยชน์เพื่อสังคม ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นว่าองค์กรมีความใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เพิกเฉยต่อประเด็นสังคมต่าง ๆ และเกิดความไว้วางใจจากภาพลักษณ์ที่พวกเขาได้เห็น
2. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ
การดำเนินธุรกิจที่คำนึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทำให้มีการนำกลยุทธ์ เทคโนโลยี วัสดุ และเครื่องมือ ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การนำกลยุทธ์ Green Marketing มาวางแผนผลิตสินค้า, การใช้พลังงานทดแทนในขั้นตอนการผลิต ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต และปรับปรุงคุณภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี
3. สร้างความพึงพอใจให้แก่บุคลากร
จากการที่บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ทำให้บุคลากรมีความภาคภูมิใจจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ และนอกจากนี้ กิจกรรม CSR การยังเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับบุคลากรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
4. สร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค
และประโยชน์ข้อสุดท้ายของกิจกรรม CSR คือ สร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค เนื่องจากกระแสการรักโลกในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การที่องค์กรร่วมกิจกรรม CSR จะช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่มีความสนใจด้านเดียวกันมาซื้อสินค้าหรือบริการ และหากองค์กรสามารถรักษามาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสม่ำเสมอ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเกิดความพักดีและกลายเป็นลูกค้าประจำในที่สุด
องค์กรในประเทศไทยที่มีการทำโครงการ CSR
ในหัวข้อนี้เราจะมายกตัวอย่างกิจกรรม CSR ที่น่าสนใจจากองค์กรในประเทศไทย เพื่อให้คุณได้ศึกษาเป็นแนวทาง และสามารถปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
PTT Global Chemical
ขอบคุณรูปจาก banmuang.co.th
PTT Global Chemical เป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ที่มุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ PTT มีโครงการ CSR มากมาย เช่น โครงการ Community Waste Model ที่ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดลูกหญ้า เพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิล และสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น
ธนาคารกรุงไทย
ขอบคุณรูปจาก krungthai.com
ธนาคารกรุงไทย ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในด้านด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ธนาคารกรุงไทยจึงมีความมุ่งมั่นสู่การเติบโตในระยะยาว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผ่านนวัตกรรม และจัดทำโครงการ CSR เพื่อช่วยเหลือสังคมมากมาย เช่น โครงการ BIOFIN ที่ร่วมกับ UNDP Thailand จัดค่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
Ditto
ดิทโต้ (Ditto) ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) ของเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ทำให้ขยายธุรกิจไปยังโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยสนับสนุนชุมชนป่าชายเลนในด้านงบประมาณและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ให้ชาวบ้านมีกำลังใจช่วยกันดูแลรักษาป่า นอกจากนี้ยังมีโครงการ CSR ที่ช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ เช่น โครงการกระดาษหน้าที่ 3 ที่รวบรวมกระดาษไม่ใช้แล้วมาทำเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับผู้พิการทางด้านสายตา และบริจาคเครื่องไตเทียมให้แก่โรงพยาบาลปัตตานี เป็นต้น
สรุป Corporate Social Responsibility
ถึงแม้ว่ากิจกรรม CSR จะไม่ได้มีข้อบังคับทางกฎหมาย แต่หลายองค์กรต่างให้ความสนใจในแนวคิดนี้กันเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้โลกของเราน่าอยู่ ปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อใจให้กับผู้บริโภค และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง ดังนั้น หากคุณกำลังมองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจของคุณและอนุรักษ์โลกไปพร้อมกัน การลงทุนเพื่อทำกิจกรรม CSR คือคำตอบที่ดี
ติดต่อสอบถามข้อมูลระบบจัดการเอกสาร เพิ่มเติม
📞 02-517-555
📱063 204 0321
Line ID: @dittothailand