ทำความรู้จัก Data Sharing คืออะไร มีวิธีการทำงานอย่างไร

  • June 28, 2023

News Description

Data Sharing

 

ทุกวันนี้ข้อมูลถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในชีวิต เพราะข้อมูลเป็นส่วนที่สามารถบอกได้ว่าเราเป็นใคร เราอายุเท่าไหร่ เราอยู่ที่ไหน อีกทั้งทุกวันนี้หลายบริษัท หลายองค์กร นำข้อมูลไปปรับกลยุทธ์การตลาด หรือการนำข้อมูลไปคาดการณ์อนาคตที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ Data เองก็มีหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในประเภทที่หลายคนเริ่มให้ความสำคัญคือ Data Sharing เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จัก Data Sharing กันก่อน ว่าคืออะไร การทำงานเป็นอย่างไร แล้วมีข้อดีของอะไรบ้าง

 

ทำความรู้จัก Data Sharing คืออะไร?

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน การส่งเสริมให้ประเทศก้าวสู่สังคมดิจิทัลหรือ Digital Economy อย่างครบวงจรนั้น หลายภาคส่วนยังมีความต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอยู่มาก ตั้งแต่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าและบริการที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล (Personalization) จนถึงภาคธุรกิจที่ต้องการข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาสินค้าและบริการให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบคลุมทั้งองค์กรที่มุ่งพัฒนาตนเป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Driven Organization) และธุรกิจสตาร์ทอัพที่สร้างโมเดลธุรกิจใหม่จากการใช้ประโยชน์จากข้อมูล

 

ในส่วนภาครัฐได้เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลในการส่งเสริมความเจริญของประเทศ โดยการสนับสนุนแนวคิดของภาครัฐเปิดข้อมูล (Open Government Data) รวมถึงมีการประกาศใช้ พรบ การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการรวบรวมข้อมูลในฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Driven Country) โดยการนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ (Decision Making) ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศที่ใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางอย่างครบถ้วน คือการสร้างการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการข้อมูลที่เหมาะสมและปลอดภัย

 

Data Sharing คือ การแบ่งปันข้อมูล หมายถึงกระบวนการที่ผู้ใช้ข้อมูลหรือองค์กรต่างๆ แบ่งปันข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นหรือรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ กับผู้อื่นหรือองค์กรอื่น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้ ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลสามารถเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การแบ่งปันข้อมูลในรูปแบบสาธารณะที่เปิดกว้าง หรือการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยการแบ่งปันข้อมูลสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีข้อมูลและผู้ที่ต้องการข้อมูล เพื่อสร้างความร่วมมือและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แต่ทั้งนี้การแบ่งปันข้อมูล จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล การแบ่งปันข้อมูลนั้นก็ควรสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำ Data Sharing คือต้องทำให้เกิดกระบวนการแบ่งปันข้อมูลที่มีความสะดวก (Convenience) ปลอดภัย (Secure) และเคารพสิทธิส่วนบุคคล (Privacy)

 

หลักการทำงานของ Data Sharing

ในส่วนของการทำ Data Sharing จะประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหลายส่วน โดยบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลสามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

1. ผู้ถือข้อมูลต้นทาง (Data Holder)

หน่วยงานหรือองค์กรที่ถือครองข้อมูลของเจ้าของข้อมูลและจะส่งข้อมูลนี้ต่อให้แก่ผู้รับข้อมูลปลายทางเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

 

2. ผู้รับข้อมูลปลายทาง (Data Recipient)

หน่วยงานหรือองค์กรที่รับข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลต้นทาง คือผู้รับข้อมูลปลายทาง ซึ่งจะได้รับข้อมูลเฉพาะส่วนที่ผู้ถือข้อมูลต้นทางยินยอมให้เปิดเผย และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งให้ผู้ถือข้อมูลทราบไว้ล่วงหน้า

 

3. เจ้าของข้อมูล (Data Owner)

ก่อนที่จะมีการส่งต่อข้อมูลระหว่างผู้ถือข้อมูลต้นทางและผู้รับข้อมูลปลายทาง ผู้ให้ความยินยอมหรือเจ้าของข้อมูลจะต้องมีการอนุญาตก่อน ซึ่งเจ้าของข้อมูลอาจเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคในกรณีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลในกระบวนการทำ Data Sharing

 

4. ผู้ให้บริการข้อมูลกลาง (Data Broker)

หน่วยงานหรือองค์กรที่รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ นำมาประมวลผล ปรับรูปแบบข้อมูลให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูล และเป็นผู้ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น

 

5. หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator)

หน่วยงานกำกับดูแลจะมีหน้าที่กำกับดูแลและให้การรับรองตามกรอบกฎหมายและมาตรฐานที่หน่วยงานต้องปฏิบัติ

 

ข้อดีของการมี Data Sharing เป็นอย่างไร?

 

1. การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่มากขึ้น

การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่มีข้อมูลหลากหลายชนิดและมากมายช่วยให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจและข้อมูลที่มีคุณค่าในการตัดสินใจทางธุรกิจและการวางแผนก่อนหน้า

 

2. การสร้างความสามารถในการพัฒนาและนวัตกรรม

การแบ่งปันข้อมูลช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ โดยทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการและใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่มีคุณค่าสูงขึ้น

 

3. การเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้

การแบ่งปันข้อมูลช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้ได้มากขึ้น ซึ่งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบุคคล (personalization) ได้

 

4. การเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้ม

การรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งช่วยให้มีข้อมูลมากพอที่จะสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและคาดการณ์

 

ทั้งหมดนี้คือข้อมูล Data Sharing หรือการแบ่งปันข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อกัน แต่ทั้งนี้อย่างที่บอกไปว่าการใช้ Data Sharing จะต้องคำนึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งทาง Ditto เองก็เล็งเห็นความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูล เพื่อประโยชน์ต่อการปรับกลยุทธ์ต่อหน่วยงานและองค์กร โดยเรามีระบบจัดการข้อมูลที่มีมาตรฐาน ป้องกันข้อมูลอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรฐานสากล พร้อมฟังก์ชันจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล และยังคำนึงถึงข้อบังคับด้าน PDPA ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานต่าง ๆ จึงมั่นใจและวางใจได้เมื่อใช้ระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. ของ Ditto

 

 

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ระบบระบบจัดการเอกสาร อบต. และ อบจ. เพิ่มเติม

📞 02-517-5555

Line ID: @dittothailand