ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแนบเนียน หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว AI ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัว มีอะไรบ้าง วันนี้ เราจะพาคุณไปดูว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใกล้ตัวที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายดายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น มีอะไรบ้าง
8 ตัวอย่างของ AI ในชีวิตประจำวัน
เทคโนโลยี AI ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation โดยมันได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไปดูกันว่า 8 ตัวอย่างของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เราเจอบ่อยในชีวิตประจำวัน มีอะไรบ้าง
1. การค้นหาข้อมูลบน Search Engine
นึกอะไรไม่ออกก็ต้องเข้า Google ไว้ก่อน ทุกครั้งที่คุณพิมพ์คำค้นหาบน Google หรือ Search Engine อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Bing Yahoo ฯลฯ นั่นหมายถึงคุณกำลังใช้งาน AI อยู่นั่นเอง โดย AI จะทำความเข้าใจความหมายและบริบทของคำค้นหาที่คุณได้กรอกลงในช่องค้นหา จากนั้นก็จะจัดอันดับและแสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องที่ตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุด ทำให้การค้นหาข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ
2. ระบบนำทาง (GPS)
แอปพลิเคชันแผนที่และระบบนำทางอย่าง Google Maps หรือ Waze ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ได้นำ AI เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ คำนวณระยะทางและคาดการณ์สภาพการจราจรในอนาคต เพื่อแนะนำเส้นทางที่ดีที่สุด ประหยัดเวลาและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติด ทำให้การเดินทางของคุณสะดวกสบายและราบรื่นยิ่งขึ้น
3. การสั่งการด้วยเสียง
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถสั่งการด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Google Assistant หรือ Alexa ฯลฯ ที่กล่าวมาทั้งหมด รู้หรือไม่? ว่านี่คือเทคโนโลยีที่ใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ทำให้สามารถเข้าใจคำสั่งเสียงของมนุษย์และโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งนาฬิกาปลุก ค้นหาข้อมูล เปิดเพลงหรือควบคุมอุปกรณ์ Smart Home ต่าง ๆ ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตได้มากเลย
4. ปลดล็อกหน้าจอด้วย FACE ID
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เรียกได้ว่าใกล้ตัว และหลายคนที่กำลังอ่านอยู่ต้องใช้ทุกวันแน่นอน นั่นก็คือระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่ใช้ในการปลดล็อกสมาร์ตโฟนหรือยืนยันตัวตนบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของ AI เช่นกัน โดยจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ประเภท Computer Vision ที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำลักษณะเฉพาะของใบหน้าได้อย่างแม่นยำ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกในการเข้าถึงอุปกรณ์หรือข้อมูลส่วนตัวนั่นเอง
5. การส่งอีเมลหรือเขียนบทความ
เพื่อให้การทำงานของคุณเป็นไปอย่างง่ายดาย และสะดวกมากยิ่งขึ้น AI ก็ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงาน ได้แก่ การเขียนอีเมล การเขียนบทความหรือแม้กระทั่งช่วยตรวจทานไวยากรณ์และแนะนำการใช้คำในการเขียน นอกจากนี้ สำหรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เช่น การคีย์ข้อมูลจากอีเมลเข้าระบบหรือการส่งอีเมลตาม Template ที่กำหนดระบบ RPA (Robotic Process Automation) ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดการงานเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อน โดยสามารถอัตโนมัติการคีย์ข้อมูลหรือการส่งอีเมลให้ตรงตามเวลาและตามข้อกำหนดได้อย่างแม่นยำ
ยิ่งไปกว่านั้น การนำระบบจัดการเอกสารจาก Ditto อย่างระบบ ECM (Enterprise Content Management) มาใช้ ก็ช่วยในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ ลดปัญหาการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนหรือการค้นหาข้อมูลที่จำเป็นในภายหลัง ทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ ทั้งการเขียนอีเมล การคีย์ข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลในระบบเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6. ฟีเจอร์การแนะนำสิ่งที่เราสนใจ
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมแอปพลิเคชันฟังเพลงอย่าง Spotify หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee/Lazada ถึงแนะนำเพลงหรือสินค้าที่คุณน่าจะชอบได้อย่างแม่นยำ นั่นก็เพราะว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ได้นำเอา AI ประเภท Machine Learning ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของคุณ และคาดการณ์ และแนะนำสิ่งที่ตรงกับความสนใจของคุณมากที่สุด
ซึ่งระบบ ECM (Enterprise Content Management) ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลมหาศาลเหล่านี้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งแต่การจัดเก็บ การเข้าถึง ไปจนถึงการจัดระเบียบและประมวลผลข้อมูลในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ทันที เมื่อข้อมูลจากหลากหลายช่องทางถูกรวบรวมและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ AI ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และวิเคราะห์เพื่อสร้างโมเดลการคาดการณ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ตรงใจมากที่สุด
7. Social Media
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, TikTok ล้วนแต่ใช้ AI เช่นกัน ตั้งแต่การคัดเลือกเนื้อหาที่จะแสดงบนหน้าฟีดของคุณ (News Feed Curation) การแนะนำเพื่อนที่คุณอาจรู้จัก การตรวจจับและลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (Content Moderation) ไปจนถึงการแสดงโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของคุณ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งาน
8. การทำธุรกรรมทางการเงิน
ปัจจุบัน สถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งได้นำ AI มาใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการให้บริการ เช่น ระบบตรวจจับการฉ้อโกง (Fraud Detection) ที่วิเคราะห์รูปแบบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ การประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ (Credit Scoring) หรือการใช้ Chatbot ตอบคำถามลูกค้าเบื้องต้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มในการบูรณาการ Green Technology เข้ากันมาใช้ โดยการลดการใช้กระดาษ เปลี่ยนเป็นเอกสารในรูปแบบดิจิทัล โดยจะช่วยลดผลกระทบต่อธรรมชาติ และสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในยุคใหม่อีกด้วยเช่นกัน
โดยหลายองค์กรยังให้ความสำคัญกับ Green Finance หรือการสนับสนุนโครงการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยกู้ให้กับธุรกิจพลังงานสะอาด การส่งเสริมการลงทุนในกองทุน ESG การเข้าร่วมซื้อขายหรือสนับสนุนโครงการ Carbon Credit ตลอดจนการวางเป้าหมายสู่ Net Zero เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงถึงบทบาทของภาคการเงินในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนอีกด้วย
สรุปบทความ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดในอนาคตอีกต่อไป แต่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตั้งแต่การใช้งานมือถือ การทำงาน ไปจนถึงการใช้บริการทางการเงินหรือความบันเทิง AI ได้เข้ามาช่วยยกระดับความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความซับซ้อนในการใช้ชีวิตของเราอย่างชัดเจน และในอนาคต AI ก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติของสังคม เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างชาญฉลาดและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่