ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาตั้งเป้าหมายและให้ความสำคัญกับคำว่า Sustainability หรือ ความยั่งยืน มากขึ้น เพราะจากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทำให้องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องคำนึงถึง Sustainability ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วความยั่งยืน หรือ Sustainability คืออะไร? ทำไมทั่วโลกถึงให้ความสำคัญ? วันนี้เราไปหาคำตอบกันเลย
Sustainability คืออะไร
Sustainability ในภาษาไทยแปลว่า ความยั่งยืน และหากพูดถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องอาศัยการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคือการพัฒนาที่จะช่วยตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบันโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมคนรุ่นต่อไปในอนาคต
จะสังเกตเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเกิดความแปรปรวนมากขึ้นทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นหรือน้ำทะเลที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี สิ่งเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการใช้พลังงานสูงขึ้น ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดกิจกรรมที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ดังนั้นจึงทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องหันมาคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดี ๆ ยังคงอยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น
Sustainability เกิดจากอะไร
คำว่า Sustainability เกิดขึ้นจากการเติบโตของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงาน เกิดความต้องการใช้สิ่งอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีจำกัดในการผลิตออกมาตอบสนองความต้องการ รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี นอกจากนี้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงอีกด้วย
เหตุผลเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกนำ Sustainability มาใช้เป็นนโยบายเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพื่อใช้เป็นแนวทางให้องค์กรต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาด้านพลังงานและเปลี่ยนมาใช้กลุ่มพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดแทน
องค์ประกอบของ Sustainability มีอะไรบ้าง
องค์ประกอบของ Sustainability ตามแนวคิด ESG หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มีองค์ประกอบที่สำคัญทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)
การจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาดถือเป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญที่สะท้อนว่า Sustainability คือการคำนึงถึงอนาคตผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้ยั่งยืนถึงคนรุ่นต่อไปได้
2. ด้านสังคม (Social)
ความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางด้านสังคม คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ Sustainability จึงเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการพื้นฐาน พร้อมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน
3. ด้านเศรษฐกิจ (Economic & Governance)
การพัฒนาที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของ Sustainability คือการมุ่งสร้างความมั่นคงทางการเงินควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการเติบโตทางธุรกิจที่สมดุล การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
ทำความเข้าใจ กับ Sustainability ในมุมของภาคธุรกิจ
ปัจจุบัน Sustainability ของภาคธุรกิจได้เริ่มแทรกเข้ามาอยู่ในนโยบายหลัก ๆ ของหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลดหรือเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การใช้พลังงานทดแทน หรือแม้แต่การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทน เช่น การปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการพัฒนาให้องค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจจะต้องเกิดการปรับตัวและพัฒนาให้อยู่รอดพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะภาคธุรกิจจะไม่สามารถเติบโตได้เลยถ้าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี
นอกจากนี้การสร้าง Mindset ให้แก่คนในองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเห็นผลมากยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่จะดำเนินไปได้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งถ้ามีการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อตัวบุคคลให้มีความมุ่งมั่น เป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันย่อมได้ประสิทธิภาพที่ดีมากกว่านั่นเอง
Sustainability ช่วยโลกของเราได้อย่างไร
มาถึงตรงนี้เราสามารถเข้าใจความสำคัญว่า Sustainability คืออะไรมากยิ่งขึ้น และมองเห็นถึงปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ การเพิ่มจำนวนของประชากรและความต้องการที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นทำให้ภาคธุรกิจเกิดการขยายตัวจนนำไปสู่กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วกระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการล้วนเกิดการสร้างของเสียและมลพิษต่าง ๆ ที่กระทบต่อโลกของเรา
เพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงเริ่มเกิดการปรับตัวและบริหารจัดการองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
1. การบริหารจัดการพลังงาน
การที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและพิจารณาเลือกใช้พลังงานสะอาดแทน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
2. การบริหารจัดการน้ำ
น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับหลากหลายอุตสาหกรรมและมักจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่เสมอ ดังนั้นการบริการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้น้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หลังการบำบัด
3. การบริหารจัดการของเสียและมลพิษต่าง ๆ
การจัดการของเสียให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) จะสามารถช่วยลดการเกิดขยะ ลดการเผาที่ก่อให้เกิดควันพิษทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเกิดกระบวนการการนำไปใช้ซ้ำ ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้อย่างหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น
4. การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมกำลังให้ความสนใจกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่เกิดการแปรปรวนขึ้นทุกปี จึงได้เกิดการร่วมมือจากหลากหลายองค์กรทั่วโลกให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการผลิตต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
สรุป
โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ นำ Sustainability เข้ามาเป็นแนวทางการพัฒนานโยบายหลักต่าง ๆ ของหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลดหรือเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, การใช้พลังงานทดแทน หรือแม้แต่การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทน เช่น การปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งการปรับตัวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้แก่คนในองค์กรจะทำให้องค์กรเหล่านี้เกิดการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Ditto (Thailand)
📞 02-517-5555
Line ID: @dittothailand